เทคนิคการก่ออิฐที่ถูกต้อง



แนวการจัดเรียงอิฐ

          โดยทั่วไปนั้น นิยมการก่อแบบเรียงอิฐเป็นแถวเดียว สลับรอยต่อระหว่างแผ่นอิฐเป็นชั้น ๆ ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า การก่อแบบ ½ แผ่นอิฐ หรือ ครึ่งแผ่นอิฐ แต่ทั้งนี้ยังมีวิธีการอื่น ๆ ซึ่งให้ความแข็งแรงที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ใช้วัสดุมากยิ่งขึ้น

การผสมและทราย

          ทรายที่ใช้จะเป็นทรายหยาบซึ่งเป็นทรายน้ำจืด สามารถรอดผ่านตะแกรงขนาด 4.75 มิลลิเมตร ลักษณะเม็ดมีเหลี่ยมมุม ไม่ควรแบนหรือเรียวยาว เพราะจะทำให้เนื้อปูนไม่ยึดเกาะ และต้องปราศจากวัสดุเจือปน

ขั้นตอนการก่อ

- ทำความสะอาดพื้นที่ที่ต้องการก่อ ไม่ควรมีเศษขยะ ฝุ่น หรือวัสดุชนิดอื่นอยู่บริเวณที่ทำงาน

- ตรวจสอบระยะและแนวที่จะก่อว่าตรงตามแบบทางวิศวกรรม ได้แนวดิ่งและฉาก

- ขึงเอ็นแนวนอนและแนวดิ่ง เพื่อเป็นการหมายระยะในการก่อ ให้ผนังที่ได้ออกมาตรง ได้ฉาก

- รดน้ำอิฐ หรือแช่น้ำอิฐก่อนการก่อ เพื่อให้อิฐมีการดูดน้ำระดับหนึ่ง ป้องกันการแย่งน้ำจากเนื้อปูนเมื่อนำไปก่อ

- เริ่มก่อจากมุมเสาด้านล่าง ด้านใดด้านหนึ่งก่อน โดยที่ชั้นแรกของการก่อ ให้รองด้วยปูนหนาประมาณ 1.5 – 2.0 เซนติเมตร สลับเป็นขั้นบันใดขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยชั้นปูนก่อทุกชั้นให้มีความหนาประมาณ 1.5 – 2.0 เซนติเมตร และควรกระทุ้งก้อนอิฐเบาๆ ให้มีการยึดเกาะระหว่างอิฐแต่ละก้อน และปาดเนื้อปูนที่ล้นออกด้านข้าง นำกลับไปใช้ก่อต่อไปได้

- ตรวจสอบระดับตามระนาบและดิ่งทุกๆ 3-5 ชั้น ด้วยเส้นเอ็นที่ขึงไว้ และการวัดระดับน้ำ การก่อที่เอนเอียงจะส่งผลต่อความแข็งแรง และสิ้นเปลืองปูนเมื่อฉาบ

- เสียบเหล็กหนวดกุ้งขนาด 6 มิลลิเมตรยาวประมาณ 50 เซนติเมตร เข้ากับเสา ให้มีส่วนยื่นออกมา 30-40 เซนติเมตรทุกๆ ความสูงที่ก่อประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร เพื่อความแข็งแรงของผนัง

- การทำเสาเอ็นและคานทับหลัง ควรทำเมื่อก่อได้ความยาว 2.50 เมตร และสูง 1.50 เมตร เพื่อเป็นการรับน้ำหนักของผนังส่วนถัดไป ด้วยการหล่อขึ้นจากคอนกรีต เสริมเหล็กเพื่อความแข็งแรง ทั้งนี้หากเจาะช่องหน้าต่างหรือประตู ก็ควรมีการหล่อเอ็นเช่นเดียวกัน โดยสามารถจัดวางวงกบประตูก่อนวางแบบหล่อได้

- ไม่ก่อจนชนท้องคาน เนื่องจากปูนก่อจะมีการยุบตัวหลังก่อไปแล้ว 1 – 2 วัน เมื่อปูนรับน้ำหนักของอิฐด้านบนไปแล้วระยะหนึ่ง ทั้งนี้เว้นช่องไว้ประมาณ 10 เซนติเมตร ก่อนอุดด้วยอิฐ

ขอขอบคุณข้อมูลความรู้ดี ๆ จาก www.sanook.com