เสาเข็ม คืออะไร ?



เสาเข็ม คืออะไร?

          เสาเข็ม คือ วัสดุอย่างหนึ่งในงานก่อสร้างที่ทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักของตัวสิ่งก่อสร้าง และกระจายน้ำหนักของสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ไปยังชั้นดิน ที่อยู่ใต้เสาเข็ม ช่วยให้สิ่งก่อสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ทรุดตัวจมลงตามน้ำหนักของสิ่งก่อสร้าง หรือแรงดึงดูดของโลก และสภาพของดินที่อยู่ใต้สิ่งก่อสร้างนั้นๆ เพิ่มความปลอดภัย และสิ่งก่อสร้างมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น

ชนิดของเสาเข็มมีอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

          1. การรับน้ำหนักโดยอาศัยแรงพยุงตัวที่เกิดจากแรงเสียดทานระหว่างพื้นผิวของเสาเข็มที่จมลึกลงไปกับดินที่อยู่โดยรอบ เรียกโดยทั่วไปว่า "การรับน้ำหนักโดยแรงพยุงผิว"

          2. การรับน้ำหนักโดยอาศัยชั้นดินแข็ง (อาจจะเป็นดินแข็ง ดินทราย หรือ ชั้นหิน ก็ได้) ซึ่งลักษณะนี้ จะเป็นการส่งถ่ายน้ำหนักจากสิ่งก่อสร้างลงไปยังชั้นดินแข็งโดยตรง เรียกกันโดยทั่วไปว่า "การรับน้ำหนักที่ปลาย"

ความจำเป็นของเสาเข็ม

          คำถามที่ว่า “การก่อสร้างอาคารจำเป็นที่ต้องมี เสาเข็ม หรือไม่” เหตุเกิดมาจากการลงเสาเข็ม เป็นเรื่องที่เพิ่มภาระงานและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ทำให้บางท่านคิดว่าหากเลี่ยงได้ก็จะช่วยประหยัดทั้งแรงงาน เวลาและค่าใช้จ่ายลง แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น การที่เราจะต้องลงเสาเข็มหรือไม่นั้น มันอยู่ที่ความจำเป็นและความเหมาะสม การปลูกสิ่งก่อสร้างบนพื้นที่มีสภาพดินอ่อน หรือ ต้องการให้อาคารที่ความมั่นคงแข็งแรงรองรับกับสภาพการใช้งาน เสาเข็มจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยรองรับน้ำหนัก ไม่เช่นนั้นหากภาระไม่เหมาะสมกับการรับน้ำหนัก จะก่อให้เกิดปัญหาการทรุดตัวของอาคาร ซึ่งหากว่าเกิดความเสียหายกับโครงสร้างที่เป็นตัวรองรับน้ำหนัก ก็อาจจะเกิดอันตราย มีความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งความสูญเสียเหล่านี้เทียบไม่ได้เลยกับค่าใช้จ่ายและเวลาที่เราใช้ไปในการลง เสาเข็ม ไป โดยเรื่องความปลอดภัยนี้ไม่ควรละเลย อย่างไรก็ดีเรื่องที่ทำให้บางท่านเกิดชะล่าใจละเลยคิดว่า เสาเข็ม อาจจะไม่จำเป็นก็ได้ อาจเนื่องมาจากการขาดการประเมินตามหลักวิชาการ อีกทั้งมันเป็นส่วนประกอบที่มองไม่เห็นของสิ่งก่อสร้าง เมื่อไม่เห็นก็ทำให้ละเลยไป แต่แท้จริงแล้ว มันมีความสำคัญอย่างมาก

ขอขอบคุณข้อมูลความรู้ดี ๆ จาก ST & Q.P.S